ANUPHAS GROUPS
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ
นายจิ้นหงวน หงษ์หยก เซี๊ยบี้อ๋อง แปลว่า (เจ้าแห่งดีบุก) ผู้ก่อตั้ง บริษัท อนุภาษและบุตร จำกัด
บริษัทแรกของบริษัทในเครืออนุภาษ เจ้าของเหมืองแร่ดีบุกที่ได้รับลายพระหัตถ์ประธานชื่อเหมืองว่า "เหมืองเจ้าฟ้า" จาก สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ
"หลวงอนุภาษภูเก็ตการ" ต้นตระกูลเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนชื่อ นายเซ็กอู๊ด (พระจีนเสื้อดำ) อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ที่ ตำบลกะไหล จังหวัดพังงา นายเซ็กอู๊ด ได้แต่งงานกับคนไทยชื่อ นางขอม มีบุตรด้วยกัน 6 คน หนึ่งใน 6 คน นั้นคือ นายตันจิ้นหงวน เกิดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2431 กำพร้าบิดาเมื่ออายุ 9 ขวบ เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดมงคลนิมิตร (วัดกลาง) โดยท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี(เพลา) จนอ่านออกเขียนได้ พออายุ 14 ปี พี่ชายจึงส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองจีนระยะหนึ่ง จึงกลับมาช่วยพี่ชายทำเหมืองแร่ดีบุก ครั้นเมื่อมีความรู้ความสามารถจึงขอแยกตัวมาทำเหมืองเองกับเพื่อนๆ 4-5 คน โดยวิธีเหมืองหาบและได้ประสบความสำเร็จมากเมื่อเปรียบเทียบว่าเป็นการทำเหมืองเองเป็นครั้งแรก แต่ก็พบกับการสิ้นเนื้อประดาตัวในคราวต่อมา แต่ท่านมุ่งหน้าทำต่อไปอย่างไม่ย่อท้อและได้เปลี่ยนวิธีการทำเหมืองไปเรื่อย ๆ จากเหมืองหาบเปลี่ยนเป็นเหมือง แล่น ท่านทำเหมืองรู (เหมืองปล่อง) ซึ่งเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะท่านลงไปหาสายแร่ดีบุกด้วยตนเอง จนกระทั่งเทียนดับซึ่งหมายถึงว่าไม่มีอากาศอยู่ในอุโมงค์แล้วท่านจึงขึ้นมาด้วยความพยายามหาความรู้ในการทำเหมือง มิได้หยุดยั้งท่านได้ทราบว่าทางมาเลเซียได้ทำเหมืองสูบกัน จึงได้เดินทางไปยังมาเลเซียเพื่อดูกิจการทำเหมืองสูบและได้เปิดกิจการทำเหมืองสูบเมื่อ พ.ศ.2470 ที่ ตำบลวิชิต (ระเงง) แม้การทำเหมืองสูบ ครั้งนี้ไม่ได้ผลท่านก็ไม่ย่อท้อได้พยายามหาทางใหม่ด้วยการซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาลองผลิตไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์อันทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ เมื่อทดลองแล้วเห็นว่าน่าจะได้ผล ในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2473
โรงไฟฟ้าก็ทำพิธีเปิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ทำเหมืองสูบแทนเครื่องยนต์ โดย สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงเสด็จมาเป็นองค์ประธาน ทรงลงลายพระหัตถ์ประธานชื่อ เหมืองสูบที่ใช้ไฟฟ้าในการทำเหมืองว่า "เหมืองเจ้าฟ้า" ให้ไว้เป็นที่ระลึก ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์มากมายจึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอนุภาษภูเก็ตการเมื่อ พ.ศ. 2474 เนื่องจาก ท่านเป็นผู้ที่ชอบใฝ่หาความรู้ในการทำงาน ดังนั้นเมื่อเหมืองสูบเจ้าฟ้าสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีแล้ว ประกอบทั้งท่านเดินทางไปปีนังเป็นประจำ และได้เห็นเห็นกิจการเหมืองเรือขุดแร่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2481 ท่านจึงได้ซื้อเรือขุดแร่จากประเทศมาเลเซียมาทำการเปิดเหมืองเรือขุด ณ บ้านหินลาดจังหวัดพังงานับเป็นคนไทยคนที่ 2 รองจากพระอร่ามสาครที่มีเรือขุดของตัวเอง ในการทำเหมืองมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ และต้องซื้อจากที่อื่น เพื่อให้งานเดินไปอย่างรวดเร็วจึงได้เปิดแผนกเสริม คือ โรงหล่อกลึง โรงเลื่อยไม้ และโรงงานไม้แปรรูป โรงสีข้าว เพื่อให้คนงานเหมืองทาน โรงน้ำแข็ง และแผนกอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนกการทำเหมือง คือ โรงทำสบู่ โรงทำสุรา สวนยาง สวนมะพร้าว เรือเดินทะเล ภูเก็ต-กันตัง ช่วงที่มีความเจริญสูงสุดของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ คือ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ฐานะของท่านมีความมั่งคั่งและมั่นคงมาก สมัยนั้นทางมาเลเซียเรียกหลวงอนุภาษภูเก็ตการว่าเป็น เซี๊ยบี้อ๋อง แปลว่า เจ้าแห่งดีบุก เมื่อกิจการดีขึ้นเป็นลำดับ ท่านมีความห่วงใยในอนาคตของครอบครัว และต้องการเห็นความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของกิจการอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน จึงจดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัดด้วยทุนทรัพย์ดำเนินงาน 2,200,000.00 บาท ให้ชื่อว่า บริษัท อนุภาษและบุตร จำกัด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2482 จัดแบ่งให้ ภรรยา บุตร ธิดา ทุกคนเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทร่วมกับท่าน หลวงอนุภาษภูเก็ตการ เมื่อยังเป็นหนุ่มได้ช่วยพี่ชายคนโตทำงานซึ่งมีชื่อว่า ตันจีนฮอง ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงประเทศจีนารักษ์หลวงอนุภาษภูเก็ตการ ได้ให้ความนับถือพี่ชายท่านเมื่อมีพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้นในปี พ.ศ.2456 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 หลวงประเทศจีนารักษ์ ได้ไปขอรับการขนานนามสกุลจากสมุหเทศาภิบาลขนานนามสกุลว่า "หงษ์หยก" หลวงอนุภาษภูเก็ตการ จึงขอใช้นามสกุลเดียวกัน และในปี พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทาน "เครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุถาภรณ์ช้างเผือก"
ต่อมา ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรกิจการ "เหมืองเจ้าฟ้า" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งและเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามพระบรมราชกุมารีฯ ได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรกิจการ "เหมืองเจ้าฟ้า" ด้วยความสนพระทัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งแก่ตระกูลหงษ์หยก
หลวงอนุภาษภูเก็ตการสมรสกับนางหลุ่นฮุ่น ในปี พ.ศ.2446 ซึ่งมีอายุ 27 ปี ขณะนั้นท่านยังเพิ่งเริ่มตั้งตัวยังไม่ถึงกับเป็นผู้มีฐานะ และบางครั้งก็ถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว แต่คุณนายหลุ่นฮุ่นก็เป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากอย่างแท้จริงโดยตลอดมา เนื่องจากท่านมีโรคประจำตัวจึงเสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ. 2496 ท่านทั้งสองมีทายาทด้วยกัน 10 คนรวม ทั้งบุตรชายที่เสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยจึงเหลือทายาท 9 คน
1.นางยุพา หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นายซุ่นเซ่งกอก (ถึงแก่กรรม)
2.นายวิรัช (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางบุญศรี(สก๊อต)
3.นายวีระพงษ์ หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางจินตนา(แซ่จู้) (ถึงแก่กรรม)
4.นายคณิต (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางเพ็ญศรี(สวัสดิ์ภักดี) (ถึงแก่กรรม)
5.นางยุวดี เจริญพิทักษ์ (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นายทวี เจริญพิทักษ์ (ถึงแก่กรรม)
6.นายเอนก หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางสุกัญญา(ถึงแก่กรรม)
7.นายณรงค์ หงษ์หยก(ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางเยาวลักษณ์(โภคาผล)
8.นางยุพาวดี สมุทรอัษฎงค์ สมรสกับ นายนเรศ สมุทรอัษฎงค์ (ถึงแก่กรรม)
9.นายสานิต หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางบี้กุ่ย (ถึงแก่กรรม)
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ ท่านเป็นบิดาที่มีความยุติธรรมรักลูกทุกคนเท่ากันไม่ว่าเป็นชายหรือหญิง ดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า ให้บุตรทุกคน เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทด้วย และให้ลูกทุกคนไปเล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่ปีนัง นอกจากนั้นยังได้ส่งไปเรียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในสมัยนั้นนับว่าเป็นกรณีพิเศษมาก เมื่อลูกๆ จบกลับมาก็ให้ไปฝึกงานจากลูกน้องจนกระทั่งขึ้นเป็นนายคนได้ ท่านมิได้ฝึกงานให้ลูกอย่างเดียว หากแต่สั่งสอนให้รู้จักคุณค่าของเงินรู้จักเก็บออมและใช้ไปในทางที่ถูกที่ควร อีกทั้งรู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและส่วนท้องถิ่น ซึ่งท่านได้ทำตัวอย่าง โดยที่มีอนุสรณ์ไว้ เช่น ยกที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนบ้านสวนมะพร้าว ซึ่งปัจจุบันชื่อ "โรงเรียนหงษ์หยกบำรุง" สร้างวัดที่ตำบลกะทู้ ชื่อวัด "อนุภาษกฤษฎาราม" ยกที่ดินให้สร้าง "โรงพยาบาลมิชชั่น" เป็นต้น ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาคม "อุตสาหกรรมเหมืองแร่" และดำรงตำแหน่งเป็นนายกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งลูกหลานก็ได้สืบทอดเจตนารมย์ของท่านได้รับความไว้วางใจจากชาวภูเก็ตให้บุตรชายคนโต คือนายวิรัช หงษ์หยก ได้รับเลือกตั้งให้เป็น ประธานสภาจังหวัดภูเก็ตและเป็นนายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต 1 สมัย บุตรชายคนที่ 3 คือ นายคณิต หงษ์หยก เป็นเทศมนตรีเมืองภูเก็ต หลานชายซึ่งเป็นบุตร นายคณิต หงษ์หยก คือร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นเทศมนตรีเมืองภูเก็ต 1 สมัย และนายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต 3 สมัย ท่านเริ่มป่วยในต้นปี 2505 และได้เข้ากรุงเทพฯเพื่อรับการรักษาเมื่ออาการดีขึ้นก็กลับมาภูเก็ตเพื่อพักฟื้น แต่อาการก็ไม่ดีเท่าที่ควรและ "เสียชีวิต" ลงเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2502 รวมอายุ 74 ปี
แม้ท่านจะเสียชีวิตไปแล้วแต่ความประสงค์ในเรื่องความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวก็คงอยู่เสมอมา โดยที่ บริษัทในเครืออนุภาษ นั้นได้ขยายกิจการไปมากมายและได้บรรดาเหล่าลูก-หลาน ดูแลบริหารงานในแต่ละบริษัทเป็นอย่างดี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านหงษ์หยก
บ้านที่ หลวงอนุภาษภูเก็ตการ (นายจิ้นหงวน หงษ์หยก) ให้ดำเนินการสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2473
ออกแบบโดย "ขุนพิศาลสารกรรม" ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี การที่บ้านหลังนี้ถูกเรียกว่า "อั้งหม้อเหลา" ซึ่งแปลว่า "ตึกฝรั่ง" เพราะตัวบ้านเป็นอาคารยุโรปผสมจีนซึ่งแตกต่างจากบ้านห้องแถวอันเป็นที่นิยมในสมัยนั้น
มีบางกลุ่มได้เรียกตึกลักษณะเช่นนี้ในภูเก็ตว่า "ชิโนโปรตุกีส" เพราะเป็นแบบยุโรปผสมจีนบางก็ให้ความเห็นว่าสิ่งก่อสร้างเช่นนี้ไม่น่าจะมีหลงเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะวัฒนธรรมดังกล่าวมีมาช้านาน ควรจะเป็นแบบ "โคโลเนี่ยวสไตล์" มากกว่าอันเนื่องมาจากได้รับอิทธิพลมาจากชาวยุโรปที่เข้ามาค้าขายในรุ่นหลังๆ ซึ่งจะเห็นได้จากเพื่อนบ้านใกล้เคียงคือในเมืองปีนังประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ บ้านหลังนี้ปลูกอยู่บนเนี้อที่ 5 ไร่ ตัวบ้านใช้เนื้อที่ 3/4 ไร่ ประกอบด้วย ห้องนอนสำหรับรับรองแขก 1 ห้อง ห้องนอนสำหรับผู้พักอาศัย 5 ห้อง ห้องทำงาน ห้องพระ ห้องรับรองแขกใหญ่ 1 ส่วน และเล็ก 1 ส่วน ห้องอาหารสำหรับ 18 ที่ ห้องนั่งเล่นหรือห้องเอนกประสงค์ ซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ ห้องซักผ้า และห้องอื่น ๆ อีก เฟอร์นิเจอร์เกือบทุกชิ้นสั่งทำจากกรุงเทพฯ ปัจจุบันยังคงใช้อยู่ กระเบื้องปูพื้นโมเสค และกระเบื้องปูหลังคาสั่งจากอังกฤษเพราะคุณภาพดีมากทำให้สีคงสภาพเดิม ถึงแม้จะผ่านจากการถูกน้ำท่วม และหน้าฝนปีแล้วปีเล่า นอกจากนั้นพัดลม โคมไฟ ปลั๊กไฟ ยังคงใช้การได้เป็นอย่างดี
คุณบุญศรี หงษ์หยก สมรสกับบุตรชายคนโตของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ชื่อคุณวิรัช หงษ์หยก ซึ่งปัจจุบันคุณวิรัช หงษ์หยก ได้ถึงแก่กรรมแล้ว คุณบุญศรี หงษ์หยก รับมรดกบ้านหลังนี้มาแต่ยังคงยึดถือเจตนาเดิมของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ที่อยากให้บ้านนี้เป็นที่รวมของ ลูกๆหลานๆ ตระกูล "หงษ์หยก" ดังนั้นทุกปีพี่น้องที่อยู่ที่อื่น จะกลับมาพักที่บ้านนี้เพื่อมาทำพิธีไหว้บรรพบุรุษ (เช้งเม้ง) ที่สุสาน นอกจากนั้นหากพี่น้องคนใด หรือบริษัทมีแขกคนสำคัญมาเยือน "อั้งหม้อเหลาของบ้านหงษ์หยก" ก็จะเป็นที่รับรองเสมอและเป็นที่ทำพิธีสมรสแบบทางใต้ เรียกว่า "พิธียกน้ำชา หรือ พังเต" รวมทั้งส่งจ้าวบ่าวจ้าวสาวเข้าห้องหอและเจตนารมณ์ดังกล่าวจะคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป ทั้งได้รักษาสภาพตึกหลังนี้ให้คงเหมือนเดิมเสมอ จึงได้รับพระราชทานกิตติบัตรจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานนิทรรศการ "สถานปนิค 30" ในปี พ.ศ. 2530 นอกจากนี้ยังมีสถาบันต่าง ๆ ขอเข้าชมบ้านเพื่อเป็นการทัศนศึกษา ถ่ายทำภาพยนต์หรือถ่ายรูปลงนิตยสารอยู่เรือยมา