top of page
S__43991042-e1_resize60.jpg

อนุภาษและบุตร

เป็นสำนักงานที่ก่อตั้งโดย  หลวงอนุภาษภูเก็ตการ  (นายจิ้นหงวน หงษ์หยก)  สำหรับท่านและบุตรธิดา  เพื่อความเป็นปึกแผ่นของวงศ์ตระกูลสืบต่อไป  จดทะเบียนเมื่อ  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2482  ตั้งอยู่ที่  74 ถ.เทพกระษัตรี ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต  ดูแลกิจกรรมหลักในเรื่องการทำเหมืองแร่ดีบุก ในท้องที่ ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต  "เหมืองเจ้าฟ้า"  นอกจากนั้นยังมีเหมืองบนบกในท้องที่จังหวัดระนอง ตรัง นครศรีธรรมราชและเหมืองเรือขุดแร่ลำที่ 2 ในประเทศไทยที่บ้านหิน-ลาดจังหวัดพังงาอีกด้วย

เพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองที่ต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้อง มีแผนกงานเสริมให้การทำเหมืองไม่ต้องหยุดชะงัก เช่น แผนกโรงหล่อกลึง แผนกโรงไม้แปรรูป โรงสีข้าวเพื่อป้อนคนงานเหมืองแร่และมีแผนกอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนกการทำเหมือง คือ โรงทำสบู่ โรงทำ สุรา สวนยาง สวนมะพร้าว เรือเดินทะเลภูเก็ต-กันตัง

ตลอดระยะเวลา 80 กว่าปี  ของกิจการทำเหมืองแร่ดีบุกซึ่งดำเนินการก่อนและหลังการก่อตั้งบริษัทเป็นไปด้วยความสำเร็จเป็นอย่างดี  แต่ในปัจจุบันแผนกการทำเหมืองแร่ดีบุกหยุดดำเนินงาน  เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ดีบุกไม่คุ้มค่ากับการลงทุน  อันเนื่องมาจากราคาแร่ดีบุกตกต่ำประกอบกับแหล่งแร่หมดไปทั้งด้วยรัฐบาลมีนโยบายไม่ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตและห้ามไม่ให้มีการทำเหมืองแร่ดีบุกอีกต่อไปโดยมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้ามาแทนที่  เมื่อบริษัทปิดแผนกเหมืองแร่และแผนกที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ดีบุกไป  บริษัทจึงได้ดำเนินการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชลล์อนุภาษและบุตร 3 แห่งขึ้นมาแทน  บริษัทยังคงไว้ซึ่งสวนยางและสวนมะพร้าวเพื่อการรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย

เหมืองเจ้าฟ้า

general_page_2_pic2.jpg
general_page_4_pic1.jpg

"เหมืองเจ้าฟ้า" ตั้งอยู่ที่ ตำบลวิชิต อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต แต่เดิมเป็น เหมืองปล่อง/เหมืองหาบ  เริ่มเปิดการทำเหมือง
ประมาณปี พ.ศ. 2460  เนื่องจาก มีประทานบัตรในบริเวณใกล้เคียงเป็นการทำเหมืองแบบเหมืองสูบ/เหมืองฉีด
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมแผนผังโครงการเดียวกันขออนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีจังหวัด 
เปลี่ยนวิธีการทำเหมืองเป็นเหมืองสูบ/เหมืองฉีด แบบเดิมเกือบทั้งหมด

          หลวงอนุภาษ  เป็นผู้ที่ชอบหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทราบว่าขณะนั้นทางมาเลเซีย  เริ่มทำเหมืองสูบด้วยวิธีใหม่แล้วในปี  พ.ศ. 2470  จึงหวังที่จะให้การทำเหมืองในเมืองไทยเจริญทัดเทียมเพื่อนบ้าน  ท่านจึงได้ตัดสินใจเดินทางไปดูกิจการเหมืองสูบ ณ ประเทศมาเลเซีย  แล้วนำมาปรับใช้ในปีเดียวกัน  นับเป็นคนไทยคนแรก  ที่เริ่มวิธีการทำเป็น "เหมืองสูบสมัยใหม่"  ขึ้นในประเทศไทย ขณะนั้นยังคงใช้เครื่องยนต์ดีเซลผลิตกระแสไฟฟ้าโดยตรง  ซึ่งไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อันเป็นผลที่ยังไม่น่าพอใจได้ท่านจึงได้พยายามหาหนทางใหม่อีกครั้งด้วยการซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้กับเรือมาทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์ดีเซล  จนประสบความสำเร็จสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้เป็นอย่างดี 

          ที่มา  ของคำว่า  "เหมืองเจ้าฟ้า"  เมื่อการทำเหมืองได้ผลเป็นที่พอใจขณะนั้น  สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ  ทรงเสด็จมาที่จังหวัดภูเก็ต  และได้เสด็จมาทอดพระเนตรกิจการเหมืองที่ตำบลวิชิต เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2473 โรงไฟฟ้าก็ทำพิธีเปิดจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในการทำเหมืองสูบแทนเครื่องยนต์  โดยทรงเป็นองค์ประธานในพิธีพร้อมทั้ง  ทรงลงลายพระหัตถ์พระราชทานชื่อเหมืองสูบแห่งนี้ว่า  "เหมืองเจ้าฟ้า"  ไว้เป็นที่ระลึก  ต่อมาในเดือน มีนาคม 2502  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรกิจการเหมืองเจ้าฟ้า   และ  วันที่ 6 ตุลาคม 2531  สมเด็จพระเทพรัตนสุดาสยามพระบรมราชกุมารี  ได้ทรงทอดพระเนตรกิจการด้วยความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งแก่ตระกูล "หงษ์หยก"

          เนื่องจากปัจจุบัน  รัฐบาลไม่อนุมัติให้มีการทำเหมืองแร่อีกต่อไป   แต่มีนโยบายให้มีการท่องเที่ยวมาแทนและประการหนึ่ง ราคาแร่ตกต่ำมากไม่สามารถดำเนินการให้คุ้มทุนได้อีกต่อไป  บริษัทจึงต้องปิดการทำเหมืองแร่ในปี พ.ศ.2535

bottom of page